วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

เกริ่นนำ "Free art tutor"


"Free art tutor" 




        น้องๆ ม.ปลายหลายคนที่กำลังจะสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เพื่ออนาคต หน้าที่การงาน เพื่อครอบครัวหรือเพื่อตัวเอง หรือตามค่านิยม หรืออาจจะยังไม่รู้อะไรเลยอยู่ก็ได้ แต่ก็ต้องสอบๆไป  จะถึงอย่างไรก่อนสอบก็ต้องมีการ "เตรียมตัว"  แต่จะเตรียมตัวอย่างไรนั้นก็มีหลายวิธี หลายคนเลือกที่จะไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาซึ่งก็มีค่าใช้จ่าย แต่ก็นับว่าคุ้มถ้าสอบติด

อันที่จริงปัจจัยที่จะทำให้สอบติดมันก็มีหลายอย่างด้วยกัน ทั้งความตั้งใจ ความขยัน ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่ความพยายามของตัวเราเองเป็นหลัก ศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์ที่อาศัยฝีมือ ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่เมื่อทำบ่อยๆก็จะเกิดความชำนาญ  ศิลปะเน้นการปฏิบัติงานเป็นหลัก ต้องลงมือทำจริงถึงจะเป็น ดังนั้นการสอบติดศิลปะก็ขึ้นอยู่กับมือเราแล้ว มิใช่มือใคร




        การฝึกฝนทักษะทางศิลปะเพื่อเตรียมตัวสอบเข้านั้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง หากมุ่งมั่นตั้งใจ ก็จะสอบติดอย่างแน่นอน โดยทั้งนี้ต้องรู้จักขวนขวายหาข้อมูลจากผู้รู้ด้วย  การที่เรารู้โจทย์  รู้เทคนิคและกฏกติกาของการสอบ ก็จะทำให้เรามีแนวทางในการฝึกและมีโอกาสสอบติดมากยิ่งขึ้น  ทีนี้เห็นรึยังว่าการสอบติดมันไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราจะสอบอะไร ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าเรียนศิลปะด้านใด คณะอะไร มหาวิทยาลัยไหน  เพื่ออะไร   คำสุดท้ายนี้แหละที่สำคัญที่สุดคือ "เราเรียนศิลปะไปเพื่ออะไร" ถ้าน้องตอบใจตัวเองได้แล้ว น้องก็จะรู้ว่าน้องต้องทำอะไรต่อไป

ทีนี้เราต้องดูตัวเราเองก่อนว่าเราเป็นใคร มีความสนใจด้านไหน ถนัดอะไร บางคนอาจจะตอบตัวเองได้ไวก็ดีไป แต่บางคนอาจจะยังตอบตัวเองไม่ได้ก็ต้องค้นหา โดยลองทำกิจกรรมดู แล้วก็ดูว่าเราทำแล้วรู้สึกยังไง ชอบไม่ชอบ ดีมั้ย แล้วถนัดหรือทำได้ดีหรือเปล่า  โดยปกติหากเราทำอะไรได้ดี หรือถนัด เราก็จะชอบสิ่งนั้นโดยปริยาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวัง ระวังว่าเราชอบใจในคำชม หรือเราพอใจที่เราได้ทำงานๆนั้นจริงๆ ซึ่งมันควรจะเป็นอย่างหลัง เพราะหากเราชอบใจในคำชมความรู้สึกนั้นๆมันก็จะไม่ยั่งยืน เช่น หากน้องวาดรูปได้แล้วมีคนมาชมว่าน้องวาดสวย น้องก็เลยรู้สึกดี น้องก็เลยคิดว่าน้องอยากเรียนศิลปะเพราะน้องอยากเป็นศิลปิน แต่ปรากฏว่าพอมาเรียนแล้วมีคนมาบอกว่างานที่น้องวาดยังไม่ดี ต้องแก้โน่นแก้นี่แล้วน้องก็ไม่อยากวาดแล้ว อย่างนี้จะลำบาก  ดังนั้นเวลาน้องทดลองทำกิจกรรมอะไรให้เอาความรู้สึกของเราไปจับที่งาน จับความรู้สึกในขณะที่ทำงานว่ามีความสุข พอใจหรือไม่ โดยไม่ได้ให้น้ำหนักที่คำชมมาก ในช่วงม.ปลายนี้ลองทำกิจกรรมให้หลากหลายจะได้ค้นหาตัวเองดู อาจมีหลายมุมที่เรายังไม่เคยรู้จักตัวเองก็ได้




เมื่อเรารู้จักตัวเองแล้วเราก็จะเริ่มเห็นปลายทางลางๆแล้ว เช่นว่าเราถนัดวาดรูปนะ เราน่าจะเป็นอะไร ทำอะไรได้บ้าง  บางคนอาจจะถนัดออกแบบเพราะลองช่วยเพื่อนทำหนังสือรุ่นมาแล้วรู้สึกดี  บางคนอาจจะปั้นเก่ง ชอบปั้นดินน้ำมัน   หรือบางคนชอบวาดตึก สนใจวิธีการสร้างบ้าน  เราก็เริ่มสังเกตุว่าทักษะที่เราพอมี กับความสนใจตรงนี้ มันจะต่อยอดเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง  เพื่อให้ภาพปลายทางมันชัดเจนยิ่งขึ้นน้องๆก็ต้องลองตามหาต้นแบบดู  ตามหาไอดอลของเรา  ไอดอลคือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เรารู้สึกชอบ ชื่นชมในตัวเขาและอยากจะประสบความสำเร็จเช่นเขาบ้าง เราจึงเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตอย่างเขาเหล่านั้น  เช่นว่า เราชื่นชอบอาจารย์เฉลิมชัย อาจารย์เป็นศิลปิน  เราก็มุ่งตรงเข้าคณะจิตรกรรมเลย  แต่หากไม่ชัดมากแค่พอรู้ว่าชอบด้านไหนก็ลองแยกย่อยลงไปให้ละเอียดดู เช่นชอบกราฟฟิก กราฟฟิกอะไร  คอมฯหรือ ภาพพิมพ์  ถ้าเป็นคอมฯนี่ ภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหว 2 มิติ หรือ 3 มิต  หรือชอบออกแบบเวปไซต์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์    ที่ต้องถามแยกย่อยขนาดนี้ก็เพื่อความชัดเจนว่าเราต้องเรียนต่อทางด้านไหน จึงจะเป็นในสิ่งที่ต้องการได้

พอได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า "ฉันจะเป็นอะไร" ก็เก็บไว้ในใจ หรือจดไว้ก็ได้ เรียงลำดับหากมีหลายอย่าง  แล้วเราก็ไปหาข้อมูลกันว่าคณะที่เราสนใจมันมีอะไรบ้าง หาให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ควรเจาะจงว่าจะต้องเข้าแต่สถาบันดังๆเท่านั้น เพราะว่าถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเราได้เป้าหมายในชีวิตแล้ว และได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องเข้าเรียนในคณะอะไร ของมหาวิทยาลัยไหน และสาขาใดแล้ว เราก็ตรวจสอบช่วงเวลาเปิดรับสมัครของคณะนั้น สาขาที่เราต้องการ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีช่วงการเปิดรับสมัครไม่เหมือนกันซึ่งเป็นการ"รับตรง" หรือ "สอบตรง" โดยมหาวิทยาลัยเอง เราต้องคอยตรวจสอบหาข้อมูลวงในจากผู้รู้ หรือหาเอาตามเวปไซต์ของคณะก็ได้เช่นกัน   ส่วนการสอบ "ส่วนกลาง" หรือ แอดมิดชั่น ที่ใช้เกรดเฉลี่ยสะสม คะแนนโอเนต แกต แพต ยื่นจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายน หรือเช็คในเวป http://www.cuas.or.th/index.php เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วเราก็เตรียมพร้อมสำหรับการสอบได้เลย

ทีนี้เราก็มาหาข้อมูลกันว่า ข้อสอบในสาขาที่เราจะสอบเข้าเค้ามีกฏกติกาอะไรบ้าง สอบอะไรบ้าง  โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะแบ่งออกเป็นข้อสอบภาคทฤษฎี กับข้อสอบปฏิบัติ
ข้อสอบภาคทฤษฏี จะมีวิชาทั่วไป เช่น วิทย์ - คณิต  ภาษา-สังคม และ ความรู้ทั่วไปทางศิลปะ   ส่วนข้อสอบปฏิบัติจะมีวิชาวาดเส้น และวิชาเฉพาะของสาขานั้นๆ เช่น ออกแบบ  สร้างสรรค์ หรือองค์ประกอบศิลป์

เมื่อรู้ข้อสอบแล้วก็ลองหาโจทย์เก่าๆย้อนหลังมาทำดู  โดยส่วนใหญ่แล้วข้อสอบทางศิลปะโจทย์ก็จะไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไร คือบอกให้รู้ๆกันไปเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ถึงรู้ก็ใช่ว่าจะตอบถูกเพราะการจะตอบโจทย์ได้เราต้องปฏิบัติ เราต้องวาดรูปนี่น่ะซี่  ถ้าหากว่ารู้โจทย์แล้ววาดไม่ได้ก็สอบไม่ติดไงล่ะ  เช่นสมมุติว่าโจทย์ออกมาให้วาดมือ ภายในเวลาสามชั่วโมง  หรือมือถือกล่องนม  หรือม่าม่าแกะห่อแล้วเห็นซองมันๆ จะวาดได้หรือไม่ แล้วจะวาดได้มีคุณภาพแค่ไหน  นี่แหละคือโจทย์วาดเส้น

ส่วนโจทย์สร้างสรรค์นั้นแล้วแต่ภาควิชา  ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า งานสร้างสรรค์คือสื่อ ประกอบด้วยรูปร่าง และนามธรรม ที่สามารถสื่อถึง เรื่องราว และอารมณ์ได้  เช่น หมาน้อยผู้น่าสงสาร  คำนี้ประกอบด้วยเรื่องก็คือหมาน้อย  เราอาจนึกถึงภาพหมาที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ส่วนความน่าสงสารนี้คืออารมณ์ความรู้สึกเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้แต่ก็อาจเห็นได้ด้วย เราอาจนึกถึงภาพหมาตัวเล็กๆเนื้อตัวเปียกปอนมอมแมม ผอมโซเหลือแต่โครงกระดูกตาลึกโหลปูดบวมดูน่ารักแต่ก็น่าสงสาร นั่งอยู่ข้างทางเดินในเมืองหลบผู้คนสัญจรด้วยความหวาดกลัว บรรยากาศสีเทามัวและมืดครึ้ม  เช่นนี้เป็นต้น เราจะสารมารถใช้ เส้น สี แสงเงา องค์ประกอบต่างๆที่ทำให้เกิดภาพเรียกว่าองค์ประกอบศิลป์มาสร้างเรื่องราวและอารมณ์ให้กับภาพ นี่หละคืองานศิลปะ

กลับเข้ามาสู่โจทย์ ทีนี้ข้อสอบก็จะกำหนดตัวใดตัวหนึ่งมาให้เรา เขาอาจกำหนดเรื่องมาให้แล้วให้เรา คิดอารมณ์เอง เช่น ให้เรื่อง"สึนามิ"มา เราก็ต้องคิดแล้วว่าเราจะให้คนดูรู้สึกยังไงกับเหตุการณ์"สึนามิ" อาจรู้สึกถึงความเศร้า หดหู่ หรือรู้สึกน่ากลัว  เราก็วาดภาพให้เป็นเหตุการณ์นั้นๆที่ดูน่ากลัว ตามที่เรากำหนดให้ได้ หากผลงานที่ได้มีคุณภาพ ก็จะสอบผ่าน  หรือถ้าข้อสอบกำหนดอารมณ์มาให้ เราก็ต้องคิดเรื่องราวเอง  เช่น กำหนดโจทย์ว่า "ความเศร้า" เราอาจจะเห็นภาพคนร้องไห้  งานศพ  ความตาย  อุบัติเหตุ ฯลฯ เรื่องอะไรก็ได้แล้วแต่เราจะสร้างสรรค์ แต่คิดว่าวาดออกมาแล้วคนดูต้องเข้าใจไปกับเราด้วยว่ามันเศร้านะ  ไม่ใช่วาดภาพคนร้องไห้ออกมาแล้วคนอื่นดูแล้วเข้าใจว่า คนร้องไห้ดีใจ อันนี้มันก็จะผิดโจทย์ ก็สอบไม่ผ่าน

ส่วนงานออกแบบก็คล้ายกันคือ มีรูปร่าง และอารมณ์ ต่างกันตรงที่ ภาพที่เขียนคือสิ่งของที่มีหน้าที่ใช้สอยด้วย ก็จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ในมุมของผู้ใช้  ความแปลกใหม่และดึงดูดใจของหัวข้อ  คือจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว และประโยชน์ใช้สอย มากขึ้นจึงเกิดเป็นแนวความคิดในการออกแบบ หรือที่เรียกว่า "คอนเซป" ขึ้นมา เช่น โจทย์ให้ "ออกแบบห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับคนพิการ"อันนี้ก็ต้องดูโจทย์ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะกำหนดสิ่งของมาให้ และก็จะรู้หน้าที่โดยทั่วๆไปของมันโดยปริยาย ทีนี้ส่วนที่เราต้องคิดเพิ่มแน่นอนก็คือเรื่องราว และอารมณ์ของห้อง  นอกจากนี้เรายังอาจคิดหน้าที่หรือประโยชน์ใช้สอยของมันให้ต่างจากปกติได้บ้าง ก็จะดูน่าสนใจดี หาก ประโยชน์ใช้สอยสอดรับกับเรื่องราวและอารมณ์ ก็จะทำให้งานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การจะฝึกทำข้อสอบให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้จนมีความมั่นในเมื่อก้าวเข้าสู่สนามสอบไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้เวลามาก และความพยายาม หากน้องๆสามารถที่จะค้นพบคำตอบว่าตัวเองต้องการสิ่งใดในชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว เราก็จะมีเวลาไว้ฝึกฝีมือมาก ซึ่งก็จะทำให้เรามีโอกาสสอบติดในเวลาอันสั้นมากเท่านั้น ทีนี้พวกเราก็เริ่มตัดสินใจได้แล้วว่าเรากำลังจะทำอะไรในชีวิตต่อไปดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น